GGC ดำเนินการขับเคลื่อนองค์กร เพื่อให้บรรลุวิสัยทัศน์ด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยครอบคลุมทั้งมิติเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม เพื่อสร้างความเชื่อมั่นด้านการเติบโตของธุรกิจอย่างยั่งยืน สร้างคุณค่าและยกระดับมาตรฐานการดำเนินธุรกิจ ให้ได้รับการยอมรับทั้งในระดับประเทศและระดับสากล


นายคงกระพัน อินทรแจ้ง

ประธานกรรมการ

GGC มุ่งมั่นในการเป็นต้นแบบ เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจแบบองค์รวมทั้ง 3 มิติ (Bio-Circular-Green Economy (BCG) Role Model) รวมทั้งพัฒนาการใช้พลังงานที่ไม่ทำให้เกิดคาร์บอนไดออกไชด์ (Decarbonization Pathway) โดยบริษัทฯ ต้องการที่จะบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าชเรือนกระจกสุทธิให้เป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี 2593


นายกฤษฎา ประเสริฐสุโข

กรรมการผู้จัดการ

ถึงแม้ปี 2565 จะเป็นปีแห่งการฟื้นตัวจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ แต่เศรษฐกิจของโลกประสบกับภาวะถดถอย ผนวกกับความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อสูงขึ้นทั่วโลก ดังนั้น การดำเนินธุรกิจทั่วโลก ยังต้องเผชิญกับความท้าทายในด้านต่าง ๆ มากมาย รวมถึงการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ทั่วโลกให้ความสนใจมากขึ้นซึ่งใน COP 27 หรือการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้เร่งให้เกิดการผลักดันการกำหนดนโยบายและการปรับตัวเพื่อให้สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ (Sustainable Development Goals: SDGs)

ในฐานะผู้นำผลิตภัณฑ์เคมีเพื่อสิ่งแวดล้อม บริษัท โกลบอลกรีนเคมิคอล จำกัด (มหาชน) (“บริษัทฯ”) ได้ดำเนินการขับเคลื่อนองค์กรเพื่อให้บรรลุวิสัยทัศน์ด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืน ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนของสหประชาชาติ (United Nations: UN) โดยครอบคลุมทั้งมิติเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม เพื่อสร้างความเชื่อมั่นด้านการเติบโตของธุรกิจอย่างยั่งยืน สร้างคุณค่าและยกระดับมาตรฐานการดำเนินธุรกิจให้ได้รับการยอมรับทั้งในระดับประเทศและระดับสากล โดยในปี 2565 บริษัทฯ มีผลการดำเนินงานด้านความยั่งยืนครอบคลุมทั้ง 3 มิติดังนี้

ด้านสิ่งแวดล้อม (Environmental): บริษัทฯ มุ่งมั่นในการเป็นต้นแบบในการพัฒนาเศรษฐกิจแบบองค์รวม ทั้ง 3 มิติ (Bio-Circular-Green Economy (BCG) Role Model) รวมทั้งพัฒนาการใช้พลังงานที่ไม่ทำให้เกิดคาร์บอนไดออกไซด์ (Decarbonization Pathway) ตลอดจนแสดงจุดยืนในการมีส่วนร่วมในความตกลงปารีสตามกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติ โดยบริษัทฯ ต้องการที่จะบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิให้เป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี 2593 ซึ่งนับเป็นเป็นก้าวที่สำคัญของบริษัทฯ สู่การเป็นหนึ่งในองค์กรด้านความยั่งยืนระดับสากล โดยกลยุทธ์ที่สำคัญประกอบด้วย

  • Efficiency-driven การผลิตอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในกระบวนการผลิตพร้อมทั้งหาเทคโนโลยีคาร์บอนต่ำและพลังงานหมุนเวียนเพื่อลดการปล่อยของเสีย อาทิ โครงการประหยัดพลังงานที่หอกลั่นแฟตตี้แอลกอฮอล์ และโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการบำบัด COD ในระบบบำบัดน้ำเสีย
  • Portfolio-driven การพัฒนาผลิตภัณฑ์เคมีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเพื่อปรับโครงสร้างธุรกิจในระยะยาวสู่ธุรกิจคาร์บอนต่ำ โดยเพิ่มสัดส่วนการลงทุนและเพิ่มผลิตภัณฑ์ในธุรกิจคาร์บอนต่ำ ด้วยเหตุนี้บริษัทฯ ได้ร่วมลงทุนกับบริษัท เคทิส ไบโอเอทานอล จำกัด และบริษัท เกษตรไทย อินเตอร์เนชั่นแนล ชูการ์ คอร์ปอเรชัน จำกัด (มหาชน) ดำเนินโครงการนครสวรรค์ไบโอคอมเพล็กซ์ ผลิตเชื้อเพลิงและพลังงานชีวภาพที่ใช้วัตถุดิบจากสินค้าทางการเกษตรภายในประเทศ และสร้างมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์เคมีชีวภาพ และพลาสติกชีวภาพ ซึ่งสอดคล้องกับกลยุทธ์ของบริษัทฯ ที่จะเติบโตในธุรกิจเคมีภัณฑ์ชีวภาพและพลาสติกชีวภาพ
  • Compensation-driven การกักเก็บและชดเชยคาร์บอน เพื่อขับเคลื่อนการบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจกให้เป็นไปตามเป้าหมายจากการใช้เทคโนโลยีใหม่ ๆ หรือการปลูกป่าเพื่อดูดซับคาร์บอน

ด้วยความมุ่งมั่นดำเนินงานตามกลยุทธ์ทั้ง 3 ด้าน และการผลักดันเพื่อยกระดับความน่าเชื่อถือด้านความยังยื่นในระดับสากลและเทียบเคียงได้กับผู้นำธุรกิจที่ดำเนินธุรกิจที่ยั่งยืน ส่งผลให้ในปี 2565 บริษัทฯ ตั้งเป้าหมายในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกขอบเขต 1 และ 2 ลง 20% ภายในปี 2573 และตั้งเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ภายในปี 2593 นอกจากนั้นได้รับการจัดลำดับให้เป็นผู้นำด้านการบริหารจัดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) จากระดับ C (Awareness Level) เป็นระดับ A- (Leadership Level) จากการประเมินของสถาบันประเมินความยั่งยืนที่น่าเชื่อถือระดับโลก นับเป็นตัวชี้วัดความสำเร็จอีกก้าวหนึ่งด้านการพัฒนาการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยื่นแบบก้าวกระโดด

ด้านสังคม (Social): บริษัทฯ สร้างความร่วมมือกับผู้มีส่วนได้เสียตลอดห่วงโซ่อุปทาน และปรับรูปแบบการดำเนินงานด้านความรับผิดชอบต่อสังคมของบริษัทฯ (CSR) สู่รูปแบบการสร้างสมดุลทางธุรกิจขององค์กรด้วยการพัฒนากิจกรรม/โครงการความรับผิดชอบต่อสังคมอย่างยั่งยืน (CSV & SE Model) เพื่อสร้างการพัฒนาอย่างยั่งยืนร่วมกับสังคม และชุมชน ตลอดห่วงโซ่อุปทาน นอกจากนี้ บริษัทฯ ได้มีการทำงานร่วมกันกับองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) เพื่อส่งเสริมให้เกษตรกรรายย่อยได้รับการรับรองมาตรฐานการผลิตน้ำมันปาล์มอย่างยั่งยืน (RSPO) เป็นการคำนึงถึงแนวทางการบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทานอย่างยั่งยืนและครอบคลุมถึงสิทธิมนุษยชนของบริษัทฯ

นอกจากนี้ ในปี 2565 บริษัทฯ ได้รับเกียรติบัตรและโล่รางวัล CSR DIW Continuous Award จากกรมโรงงานอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม เป็นปีที่ 8 ต่อเนื่อง ซึ่งสะท้อนถึงความมุ่งมั่นในการดำเนินธุรกิจและการดำเนินงานที่เป็นมิตรต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม รวมถึงได้รับโล่รางวัล โรงงานอุตสาหกรรมเชิงนิเวศที่มีคุณค่าต่อสังคม (Eco Factory plus Social Value: Eco Factory + SV) ในระดับ Gold Plus หรือระดับสูงสุด ประจำปี 2565 ซึ่งแสดงถึงการดำเนินงานที่มีมิติความสมดุลทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม

ด้านการกำกับดูแลกิจการที่ดี (Governance): บริษัทฯ มุ่งมั่นที่จะเป็นหนึ่งในองค์กรด้านความยั่งยืนที่ได้รับการยอมรับทั้งในระดับประเทศและระดับสากล โดยดำเนินธุรกิจตามแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืน เพื่อเป็นแกนนำในธุรกิจผลิตภัณฑ์เคมีเพื่อสิ่งแวดล้อม ด้วยการสร้างความเชื่อมั่นต่อผู้มีส่วนได้เสีย ผ่านการดำเนินงานที่เป็นเลิศ โปร่งใส เป็นธรรม ตามหลักธรรมาภิบาล มีการพัฒนานวัตกรรมอย่างต่อเนื่อง และมีกรอบการบริหารจัดการความยั่งยืน เพื่อเป็นแนวปฏิบัติให้เป็นไปในทิศทางเดียวกันตามมาตรฐานสากล โดยการมีส่วนร่วมของผู้บริหารและพนักงานในการสนับสนุน ผลักดันการดำเนินงานด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืนของบริษัทฯ

ความสำเร็จด้านความยั่งยืนในการประกอบธุรกิจของบริษัทฯ ทั้งหมดที่กล่าวมาข้างต้น บริษัทฯ ไม่สามารถดำเนินการได้เพียงลำพัง หากเกิดจากความร่วมมือร่วมใจกันทั้งจากความแข็งแกร่งในการดำเนินงานของผู้บริหาร พนักงานที่ร่วมมือกันปฏิบัติงานอย่างเต็มความสามารถ การสนับสนุนที่ดีจากภาคีพันธมิตร และผู้มีส่วนได้เสียตลอดห่วงโซ่อุปทาน

ในนามของคณะกรรมการบริษัทฯ ผู้บริหาร และพนักงาน ขอขอบคุณผู้มีส่วนได้เสียทุกภาคส่วนที่สนับสนุนบริษัทฯ ด้วยดีตลอดมา แม้ว่าเส้นทางไปสู่เป้าหมายด้านความยั่งยืนในอนาคตจะมีอุปสรรคและความท้าทาย บริษัทฯ จะยังคงเดินหน้าเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนการดำเนินธุรกิจตามแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืน เพื่อสร้างคุณค่าให้แก่องค์กร และผู้มีส่วนได้เสีย และที่สำคัญสร้างประโยชน์และความรับผิดชอบต่อเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมให้แก่ประเทศร่วมกันต่อไป