ความท้าทายและความมุ่งมั่น

บริษัทฯ มุ่งมั่นลดปริมาณและจัดการของเสียอย่างประสิทธิภาพในกระบวนการผลิต ทั้งของเสียอันตรายและไม่อันตราย เพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและการขาดแคลนทรัพยากร ตลอดจนสามารถช่วยบริษัทฯ ในการลดค่าใช้จ่ายในการจัดการของเสียอีกด้วย

ผู้มีส่วนได้เสียหลัก

พนักงาน
ชุมชน สังคม และสิ่งแวดล้อม
ผู้ถือหุ้น นักลงทุน และนักวิเคราะห์
ภาครัฐ
คู่ค้า และคู่ค้าทางธุรกิจ
ลูกค้า

เป้าหมายการดำเนินงาน

ลดปริมาณของเสียอันตรายและไม่อันตรายไปฝังกลบ
เป็นศูนย์
อย่างต่อเนื่อง

แนวทางการบริหารจัดการ

แนวทางการดำเนินงานด้านการจัดการของเสีย
GRI 306-1 (2020), GRI 306-2 (2020)

บริษัทฯ มุ่งมั่นในการกำจัดของเสียแบบอันตรายและไม่อันตรายที่เกิดจากกระบวนการผลิต ซ่อมบำรุง และกิจกรรมอื่น ๆ ขององค์กรให้ได้มากที่สุด เพื่อใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุดตลอดห่วงโซ่คุณค่า และลดปริมาณการเกิดของเสียให้น้อยที่สุด พร้อมทั้งป้องกันและลดผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อมโดยรอบ ตั้งแต่ต้นทางจากแหล่งกำเนิดของเสียต่าง ๆ ตลอดจนของเสียที่เกิดจากทุกขั้นตอนในกระบวนการผลิตของบริษัทฯ ผ่านกระบวนการบริหารจัดการของเสียที่มีประสิทธิภาพตามแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) และสอดคล้องตามมาตรฐานสากล รวมถึงแนวทาง 3Rs ซึ่งประกอบไปด้วย การลดปริมาณการเกิดของเสีย (Reduce) การใช้ซ้ำนำกลับมาใช้ใหม่ (Reuse) การแปรรูปเพิ่มมูลค่า (Recycle) การเลือกใช้ทรัพยากรแบบหมุนเวียนได้ (Renewable) และการปฏิเสธการใช้สารที่อันตรายต่อสิ่งแวดล้อม (Refuse)

แนวทาง 3Rs

นอกจากนี้ บริษัทฯ ได้กำหนดแผนการดำเนินงานเพื่อควบคุม ตรวจสอบ และเฝ้าระวังการจัดการของเสีย จากโรงงานทุกแห่งอย่างสม่ำเสมอ โดยเริ่มตั้งแต่การรวบรวม จัดเก็บ และขนส่งของเสียที่เกิดจากการดำเนินกิจกรรมของบริษัทฯ เพื่อนำส่งสถานที่รับบำบัดและกำจัดที่ผ่านการรับรองจากกรมโรงงานตามประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง การกำจัดสิ่งปฏิกูลหรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้ว และจัดให้มีการติดตามและรายงานข้อมูลของเสียผ่านระบบกำกับการขนส่งสิ่งปฏิกูลวัสดุไม่ใช้แล้วทางอิเล็กทรอนิกส์ (E-manifest) ทุกครั้ง

สามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับโครงการจัดการของเสีย ในเล่มรายงานความยั่งยืนแบบบูรณาการประจำปี 2566 ของบริษัทฯ ได้ที่ รายงานความยั่งยืนแบบบูรณาการประจำปี 2566

  • โครงการรวบรวมน้ำมันจากน้ำเสียเพื่อนำกลับมาใช้ใหม่ (Recovery Oil Loss from Wastewater) โดยการแยกน้ำมันที่ผสมอยู่ในน้ำเสียจากหอกลั่น กลับมาใช้ใหม่ (Recovery) รวมทั้งนำมาขายเป็นเชื้อเพลิงผสม ซึ่งสามารถสร้างรายได้ให้บริษัทฯ

สามารถรับทราบรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับผลการดำเนินงานด้านการจัดการของเสียอย่างมีประสิทธิภาพ ได้ที่ Performance Data 2023

บริษัทฯ ยังคงมีเป้าหมายการฝังกลบของเสียอุตสาหกรรมให้เป็นศูนย์อย่างต่อเนื่อง (Zero-Waste to Landfill) โดยในปี 2565 ที่ผ่านมา มีโครงการที่โดดเด่น ดังนี้

1. โครงการ Material Improvement for Process Pipeline

บริษัทประยุกต์ใช้หลักการลดการใช้ (Reduce) โดยการปรับปรุงวัสดุระบบท่อ ที่พบปัญหา Corrosion&Erosion จากวัสดุ stainless steel เป็น PTFE lined carbon steel เพื่อยืดอายุของวัสดุจากไม่เกิน 5 ปี เป็น มากกว่า 15 ปี ซึ่งจากการดำเนินงานส่งผลให้บริษัทฯประหยัดค่าใช้จ่ายในส่วนของค่าซ่อมบำรุงและค่าดำเนินงาน (Maintenance and operation costs) ได้ 900,000 บาทต่อครั้ง หรือคิดเป็น 1.8 ล้านบาทต่อปี และลดปริมาณของเสียที่เกิดขึ้นจากกระบวนการผลิต

2. โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการบำบัด COD ในระบบบำบัดน้ำเสีย

บริษัทประยุกต์ใช้หลักการลดปริมาณการเกิดของเสีย (Reduce) โดยการปรับปรุงระบบบำบัดน้ำเสียของบริษัทฯให้สามารถรองรับการบำบัดน้ำเสียที่เกิดขึ้นจากกระบวนการผลิตที่มีค่า COD สูง ให้มีค่าที่อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานคุณภาพน้ำทิ้งก่อนเข้าสู่ระบบบำบัดส่วนกลางของการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เพื่อลดปริมาณขนส่งออกเพื่อการบำบัด/กำจัดภายนอกโรงงาน สามารถลดปริมาณการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกของการขนส่ง (Scope 3) ลงได้ 0.187 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อเที่ยวการขนส่ง หรือคิดเป็น 103.6 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี และสามารถประหยัดค่าใช้จ่ายในการส่งน้ำเสียที่มีค่า COD สูง เพื่อบำบัด/กำจัดภายนอกได้ถึง 4.7 ล้านบาทต่อปี เมื่อเปรียบเทียบกับการดำเนินงานในปีก่อนหน้า

3. โครงการนำ Insulation กลับมาใช้ใหม่

บริษัทประยุกต์ใช้หลักการนำกลับมาใช้ใหม่ (Reuse) โดยการคัดแยก Insulation ที่สามารถนำกลับมาใช้ซ้ำได้ และวัสดุที่รอการบำบัด/กำจัดออกจากกันอย่างชัดเจน และจัดให้มีภาชนะรองรับที่เหมาะสมสำหรับการรอการกลับมาใช้ซ้ำ เป็นการลดปริมาณของเสียที่เกิดขึ้นและลดการนำส่งไปยังหลุมฝังกลบ 100%

4. โครงการแฟตตี้แอลกอฮอล์ Reprocess

บริษัทประยุกต์ใช้หลักการการแปรรูปเพิ่มมูลค่า (Recycle) โดยการนำเอาผลิตภัณฑ์เม็ด Fatty Alcohol (FAOH) ที่อยู่ในช่วงการเปลี่ยน Grade ผลิตภัณฑ์กลับเข้าสู่กระบวนการการผลิตและกลั่นใหม่ เพื่อนำมาผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ จากการดำเนินโครงการสามารถนำแฟตตี้แอลกอฮอล์ กลับเข้าสู่กระบวนการผลิตได้มากถึง 296 ตัน

5. โครงการปรับปรุงการทำความสะอาดเครื่องควบแน่นของ Steam ejector ในหน่วยการกลั่นกลีเซอรีนด้วยสารเคมี

บริษัทประยุกต์ใช้หลักการปฏิเสธการใช้สารที่ทำลายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (Refuse) โดยการปรับปรุงขั้นตอนการทำความสะอาดเครื่องควบแน่นและมีการเลือกใช้สารเคมีที่ไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม พร้อมทั้งวางแผนในการล้างอุปกรณ์ที่ใช้ในกระบวนการผลิต เพื่อลดปริมาณของเสียลงให้เหลือน้อยที่สุด และเป็นการตอบสนองต่อนโยบายการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ทำให้สามารถประหยัดค่าใช้จ่ายได้ 0.55 ล้านบาทต่อครั้ง