ความท้าทายและความมุ่งมั่น

บริษัทฯ ตระหนักว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ อาทิ วิกฤตน้ำแล้ง รวมถึงการเติบโตของภาคอุตสาหกรรมทำให้เกิดความต้องการใช้น้ำมากขึ้น ส่งผลให้บริษัทฯ มีความเสี่ยงอย่างมากต่อการขาดแคลนน้ำที่จำเป็นต่อกระบวนการผลิตทั้งในด้านคุณภาพและปริมาณ ซึ่งอาจส่งผลกระทบถึงขั้นเกิดการหยุดชะงักของธุรกิจ รวมทั้งส่งผลกระทบต่อปริมาณน้ำของชุมชนโดยรอบ ดังนั้น บริษัทฯ จึงมุ่งมั่นดำเนินการบริหารจัดการน้ำภายในองค์กรอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืนตลอดห่วงโซ่คุณค่า

ผู้มีส่วนได้เสียหลัก

พนักงาน
ชุมชน สังคม และสิ่งแวดล้อม
ผู้ถือหุ้น นักลงทุน และนักวิเคราะห์
ภาครัฐ
คู่ค้า และคู่ค้าทางธุรกิจ
ลูกค้า

แนวทางการบริหารจัดการ

แนวทางการบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืน GRI 303-1 (2018)

บริษัทฯ มีแนวทางบริหารจัดการทรัพยากรน้ำภายในองค์กรตามหลักการ 3Rs ได้แก่ การลดการใช้น้ำ (Reduce) การใช้น้ำซ้ำ (Reuse) และ การนำน้ำทิ้งที่ผ่านกระบวนการบำบัดกลับมาใช้ใหม่ (Recycle)

Reducing water Consumption by3Rs

สามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับโครงการจัดการน้ำเพื่อความยั่งยืน ในเล่มรายงานความยั่งยืนแบบบูรณาการประจำปี 2565 ของบริษัทฯ ได้ที่ รายงานความยั่งยืนแบบบูรณาการประจำปี 2565

  • โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการบำบัด COD ในระบบบำบัดน้ำเสีย โดยการลด COD ในระบบบำบัดน้ำเสีย แบบเติมอากาศ ผ่านการวางแผนจัดการน้ำเข้าระบบ และทดลองการกักเชื้อ เพื่อรักษาประสิทธิภาพการบำบัดน้ำเสียในระบบบำบัดน้ำเสียแบบเติมอากาศ ส่งผลให้สามารถรักษาประสิทธิภาพการบำบัดน้ำเสียได้มากกว่า ร้อยละ 90

ทั้งนี้ สามารถรับทราบรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับผลการดำเนินงานด้านการจัดการทรัพยากรน้ำ ได้ที่ Performance Data

การประเมินความเสี่ยงด้านน้ำ GRI 303-1 (2018)

บริษัทฯ ประเมินความเสี่ยงด้านน้ำสำหรับสถานที่ตั้งประกอบการ เพื่อเตรียมความพร้อมกับความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้น โดยใช้เครื่องมือแผนที่ความเสี่ยงด้านน้ำ (Water Risks Map) ที่มีการจัดทำขึ้นโดยองค์กร AQUEDUCT Water Risk Atlas และข้อมูลพื้นที่ที่ความเสี่ยงด้านน้ำของประเทศไทย ที่มีการจัดทำขึ้นโดยกรมชลประทาน และดำเนินการติดตามแนวทางการรับมือในกรณีที่เกิดเหตุจำเป็นที่จะต้องลดปริมาณการใช้น้ำในการผลิตในเขตประกอบการจังหวัดระยอง และจังหวัดชลบุรี และนำมารายงานต่อผู้บริหารเพื่อกำหนดแผนกลยุทธ์ในการดำเนินการต่อไป

จุดเก็บตัวอย่าง / วิเคราะห์คุณภาพน้ำดิบรายเดือน
พื้นที่ระยอง
  1. อ่างฯ หนองปลาไหล
  2. อ่างฯ ดอกกราย
  3. อ่างฯ คลองใหญ่
  4. อ่างฯ ประแสร์
  5. แม่น้ำระยอง
  6. ท่อดอกกราย-มาบตาพุด
  7. ท่อหนองปลาไหล-มาบตาพุด
  8. สระทับมา
พื้นที่ชลบุรี
  1. อ่างฯ หนองค้อ
  2. อ่างฯ บางพระ

นอกจากนี้บริษัทฯ ยังร่วมมือกับหน่วยงานภายนอก อาทิ กลุ่ม ปตท. คณะทำงานศูนย์ปฏิบัติการน้ำภาคตะวัน (Water War Room) และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ในการบริหารจัดการน้ำในสถานการณ์ภัยแล้งที่อาจเกิดขึ้น และติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด เพื่อให้มั่นใจว่าจะมีน้ำเพียงพอต่อการดำเนินธุรกิจและไม่ส่งผลกระทบต่อชุมชนโดยรอบ

การจัดการน้ำทิ้ง GRI 303-2 (2018)

บริษัทฯ กำหนดนโยบายแผนงานด้านอาชีวอนามัยและสิ่งแวดล้อม QSHEB เพื่อเป็นแนวทางในการติดตามและเฝ้าระวังการปล่อยน้ำเสียตลอดห่วงโซ่การผลิต อีกทั้ง มีระบบการระบายน้ำทิ้งที่สอดคล้องกับข้อกำหนดหรือข้อบังคับทางกฎหมาย อาทิ พระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 และข้อกำหนดการระบายน้ำทิ้งเข้าสู่ระบบบำบัดน้ำเสียส่วนกลางในนิคมอุตสาหกรรมของการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) รวมถึงสอดคล้องตามมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบที่ระบุไว้ในรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น (Initial Environmental Examination) นอกจากนี้ บริษัทฯ ได้ปรับปรุงระบบบำบัดน้ำเสียอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้มั่นใจว่าน้ำทิ้งมีคุณภาพอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานของอุตสาหกรรมโอลีโอเคมีภัณฑ์ โดยมีพารามิเตอร์ในการตรวจสอบคุณภาพน้ำทิ้ง อาทิ ค่าความเป็นกรดด่าง (pH) อุณหภูมิ (Temperature) ค่าซีโอดี (Chemical Oxygen Demand: COD) ค่าบีโอดี (Biological Oxygen Demand: BOD) ค่าของแข็งแขวนลอยทั้งหมด (Total Suspended Solid: TSS) น้ำมันและไขมัน (Oil and Grease) โลหะหนัก เช่น ปรอท (Hg) สารหนู(As) เป็นต้น นอกจากนี้บริษัทฯ ดำเนินการตรวจสอบคุณภาพน้ำทิ้งตามพารามิเตอร์ข้างต้น เป็นประจำทุกวันวันละ 2 ครั้ง และรายงานในที่ประชุม เพื่อติดตามและควบคุมคุณภาพของน้ำทิ้งก่อนมีการระบายลงสู่ระบบบำบัดส่วนกลางของการนิคมอุตสาหกรรม