ความท้าทายและความมุ่งมั่น

ปัจจุบัน ผู้บริโภคมีแนวโน้มในการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัยต่อสุขภาพสูงขึ้น จึงเป็นโอกาสของบริษัทฯ ในการพัฒนาและต่อยอดธุรกิจผลิตภัณฑ์ให้ตอบสนองต่อความต้องการของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป ทั้งนี้ บริษัทฯ จึงมุ่งมั่นที่จะส่งมอบผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง โดยให้ความสำคัญในการดำเนินงานด้านความรับผิดชอบต่อผลิตภัณฑ์ เพื่อเพิ่มโอกาสทางธุรกิจ นอกจากนี้บริษัทฯ ยังมุ่งลดความเสี่ยงในการเกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของผู้บริโภคจากการผลิตและการใช้ผลิตภัณฑ์ของบริษัทฯ ซึ่งอาจจะส่งผลเชิงลบต่อชื่อเสียงและการดำเนินธุรกิจของบริษัทฯ

ผู้มีส่วนได้เสียหลัก

ภาครัฐ
คู่ค้า และคู่ค้าทางธุรกิจ

เป้าหมายการดำเนินงาน

ทุกผลิตภัณฑ์
ของบริษัทฯ ได้รับการรับรองคาร์บอนฟุตพริ้นท์ของผลิตภัณฑ์ (Carbon Footprint Product: CFP) ในปี 2565
ผลิตภัณฑ์ของบริษัทฯ ได้รับการรองรับฉลากลดคาร์บอนฟุตพริ้นท์ หรือฉลากลดโลกร้อน (Carbon Footprint Reduction: CFR)
ร้อยละ 50 ในปี 2565

แนวทางการบริหารจัดการ

กลยุทธ์การเป็นผู้ผลิตผลิตภัณฑ์ที่ยั่งยืน

บริษัทฯ กำหนดกลยุทธ์การเป็นผู้ผลิตผลิตภัณฑ์ที่ยั่งยืน (Sustainability Product Strategy) ในการดำเนินงานด้านความรับผิดชอบต่อผลิตภัณฑ์ ซึ่งบริษัทฯ ได้วิเคราะห์ปัจจัยต่างๆ ทั้งภายในและภายนอกที่สำคัญต่อการดำเนินธุรกิจ และสนับสนุนแผนการเติบโตของบริษัทฯ ในอนาคต ทั้งนี้ บริษัทฯ ยังมุ่งเน้นการลงทุนขยายธุรกิจไปยังกลุ่มผลิตภัณฑ์เคมีชีวภาพและพลาสติกชีวภาพ เพื่อตอบสนองต่อความต้องการของผู้มีส่วนได้เสีย พร้อมทั้งใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด และลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชนให้น้อยที่สุด

การประเมินวัฏจักรชีวิตของผลิตภัณฑ์ GRI 416-1 (2016)

บริษัทฯ ได้นำหลักการประเมินวัฏจักรชีวิตผลิตภัณฑ์ (Life Cycle Assessment: LCA) และหลักการ 3Rs มาประยุกต์ใช้ในขั้นตอนการออกแบบและผลิตผลิตภัณฑ์ครอบคลุมตั้งแต่ขั้นตอนการได้มาซึ่งวัตถุดิบ การผลิต การใช้งาน การจัดการของเสียขั้นสุดท้าย รวมถึงการขนส่งในทุกขั้นตอน เพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชนตลอดวัฏจักรของผลิตภัณฑ์ และใช้ทรัพยากรในการผลิตให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด

ทั้งนี้ บริษัทฯ ประเมินวัฏจักรชีวิตของผลิตภัณฑ์อ้างอิงตามมาตรฐาน ISO 14040 และ ISO 14044 อย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 6 ภายใต้การขอรับรองฉลากคาร์บอนฟุตพริ้นท์ของผลิตภัณฑ์ (Carbon Footprint Products: CFP) และฉลากลดคาร์บอนฟุตพริ้นท์ (Carbon Footprint Reduction: CFR) โดยในปี 2565 ผลิตภัณฑ์ของบริษัทฯ ได้รับการรองรับคาร์บอนฟุตพริ้นท์ของผลิตภัณฑ์ คิดเป็น ร้อยละ 100 และผลิตภัณฑ์ของบริษัทฯ ได้รับการรับรองฉลากลดคาร์บอนฟุตพริ้นท์ หรือฉลากลดโลกร้อน คิดเป็น ร้อยละ 50

ผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการรับรองฉลากคาร์บอนฟุตปริ้นท์ของผลิตภัณฑ์และฉลากลดโลกร้อน

บริษัทฯ พัฒนาผลิตภัณฑ์คาร์บอนต่ำอย่างต่อเนื่อง เพื่อมุ่งลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตลอดวัฏจักรชีวิตของผลิตภัณฑ์ และในขณะเดียวกันก็เป็นการตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงของความต้องการของลูกค้าที่มุ่งไปสู่สังคมคาร์บอนต่ำ ซึ่งผลิตภัณฑ์หลักของ บริษัทฯ แบ่งเป็น 2 ประเภทหลัก ได้แก่ ผลิตภัณฑ์คาร์บอนต่ำ และผลิตภัณฑ์ที่ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

สามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับเพิ่มเติมเกี่ยวกับความรับผิดชอบต่อผลิตภัณฑ์ ในเล่มรายงานความยั่งยืนแบบบูรณาการประจำปี 2566 ของบริษัทฯ ได้ที่ รายงานความยั่งยืนแบบบูรณาการประจำปี 2566

  • โครงการลงทุนไบโอคอมเพล็กซ์ เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ ระยะที่ 2 บริษัทฯ ร่วมกับบริษัท เคทิส ไบโอเอทานอล จำกัด และบริษัท เกษตรไทย อินเตอร์เนชั่นแนล ชูการ์ คอร์ปอเรชัน จำกัด (มหาชน) จัดสร้างนครสวรรค์ไบโอคอมเพล็กซ์ (Nakhonsawan Biocomplex: NBC) ระยะที่ 2 ลงทุนเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์คาร์บอนต่ำด้วยการผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพและระบบสาธารณูปโภค โดยใช้อ้อยเป็นวัตถุดิบ รวมถึงลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบสาธารณูปโภค เพื่อรองรับโครงการในอนาคต
  • โครงการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ตัวทำละลายในกลุ่มยาฆ่าแมลงจากเมทิลเอสเทอร์ บริษัทฯ ศึกษาการพัฒนาตัวทำละลายในกลุ่มยาฆ่าแมลงจากเมทิลเอสเทอร์ ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่มาจากพืช สามารถย่อยสลายเองได้ทางธรรมชาติ และเป็นสารเคมีที่มีความไวไฟน้อยกว่าสารไซลีน (Xylene) เพื่อส่งเสริมความปลอดภัยต่อเกษตรกรและผู้ใช้งานผลิตภัณฑ์

สามารถรับทราบรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับตารางสรุปผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการรับรองฉลากคาร์บอนฟุตปริ้นท์ของผลิตภัณฑ์และฉลากลดโลกร้อน ได้ที่ รายงานความยั่งยืนแบบบูรณาการประจำปี 2566

ประโยชน์ที่ได้รับจากผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

ทุกผลิตภัณฑ์ของบริษัทฯ ผลิตจากวัตถุดิบจากธรรมชาติที่สามารถปลูกทดแทนได้ อาทิ ปาล์มน้ำมัน และอ้อย เป็นต้น โดยอัตราส่วนวัตถุดิบที่ได้จากธรรมชาติคิดเป็น ร้อยละ 100 ซึ่งถือว่าเป็นผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และปลอดภัยต่อผู้บริโภค โดยประโยชน์ที่ได้รับจากผลิตภัณฑ์หลักทั้ง 3 ประเภท ได้แก่

เมทิลเอสเทอร์ (B100)
น้ำมันเชื้อเพลิงทางเลือก (ไบโอดีเซล) ที่ใช้กับเครื่องยนต์ดีเซลในปัจจุบัน มีคุณสมบัติที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและปลอดภัยต่อผู้บริโภค โดยช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและช่วยลดต้นทุนได้ เมื่อเทียบการกับการใช้พลังงานจากเชื้อเพลิงฟอสซิล
กลีเซอรีน
เป็นผลิตภัณฑ์พลอยได้จากกระบวนการผลิตเมทิลเอสเทอร์ และแฟตตี้แอลกอฮอล์ ซึ่งมีคุณสมบัติ ไม่มีสี ไม่มีกลิ่น ไม่เป็นพิษต่อร่างกาย ดูดซับความชื้นได้ และเป็นตัวทำละลายได้ดี ผลิตภัณฑ์ชนิดนี้ถูกนำมาใช้เป็นส่วนผสมในผลิตภัณฑ์เพื่อสุขอนามัย และใช้เป็นสารแขวนลอย (Emulsifier) ในอุตสาหกรรมอื่น ๆ
แฟตตี้แอลกอฮอล์
ใช้เป็นสารตั้งต้น หรือตัวทำละลายในผลิตภัณฑ์เพื่อการดูแลสุขอนามัยส่วนบุคคลและครัวเรือน ซึ่งแฟตตี้แอลกอฮอล์เป็นผลิตภัณฑ์ที่ผลิตจากน้ำมันพืชธรรมชาติทำให้ไม่เป็นอันตรายต่อร่างกาย เมื่อเทียบกับสารตั้งต้นที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์

ทั้งนี้ บริษัทฯ ได้มีการจัดทำ14 ตัวชี้วัด เพื่อใช้เป็นเกณฑ์ในประเมินความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมของผลิตภัณฑ์ ซึ่งครอบคลุมตั้งแต่กระบวนการจัดหาวัตถุดิบ ไปจนถึงการใช้งานผลิตภัณฑ์ โดยสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ Eco Screening Criteria

การจัดการสารอันตรายในผลิตภัณฑ์

สารเคมีที่เป็นอันตรายในผลิตภัณฑ์อาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพของผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อม โดยผลิตภัณฑ์ทุกชนิดของบริษัทฯ ผลิตจากวัตถุดิบจากธรรมชาติคิดเป็น ร้อยละ 100 อย่างไรก็ตาม โรงงานผลิตของบริษัทฯ ยังคงให้ความสำคัญในการใช้สารเคมีอันตรายตามกฎหมาย เช่น LPG Methanol Hydrogen Toluene Sulfuric acid Potassium Hydroxide เป็นต้น พร้อมทั้งมีการจัดการสารอันตราย ทั้งในด้านข้อกฎหมายและข้อกำหนดการควบคุมตามมาตรฐานที่เกี่ยวข้องในระดับประเทศและสากล เช่น บัญชีรายชื่อวัตถุอันตรายตามประกาศกรมโรงงานอุตสาหกรรม สารทำลายบรรยากาศชั้นโอโซนตามพันธกรณีพิธีสารมอนทรีออล การขึ้นทะเบียน REACH (Registration Evaluation Authorization and Restriction of Chemicals) และ RoHs (The Restriction of Hazardous Substances) เป็นต้น

นอกจากนี้ บริษัทฯ ได้จัดทำเอกสารข้อมูลความปลอดภัยสารเคมี (Safety Data Sheet: SDS) และข้อมูลการจำแนกกลุ่มผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมของสารเคมีตามระบบ UN GHS Category ภายใต้ระบบการจัดกลุ่ม Globally Harmonized System for Classification and labeling of Chemicals (GHS) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสื่อสารข้อมูลด้านความปลอดภัยของสารเคมีต่อผู้มีส่วนได้เสียทุกภาคส่วน เช่น ผู้ประกอบการ คู่ค้า ลูกค้า และชุมชน เป็นต้น

การประเมินความเสี่ยงสารอันตรายที่ส่งผลต่อสุขภาพของผู้บริโภค (Health Risk)

บริษัทฯ ได้วางแผนการดำเนินการประเมินความเสี่ยงสารอันตรายในผลิตภัณฑ์ที่ส่งผลต่อสุขภาพของผู้ปฏิบัติงาน ตามประกาศของกระทรวงอุตสาหกรรมฉบับที่ ๔๔๓๙ (พ.ศ. ๒๕๕๕) ออกตามความในพระราชบัญญัติมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม พ.ศ. ๒๕๑๑ เรื่อง กําหนดมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมการประเมินความเสี่ยงด้านสารเคมีต่อสุขภาพผู้ปฏิบัติงานในโรงงานอุตสาหกรรม โดยเริ่มดำเนินการประเมินดังกล่าวตั้งแต่ปี 2564 ครอบคลุมผลิตภัณฑ์คิดเป็น ร้อยละ 100 ของผลิตภัณฑ์ทั้งหมด อย่างต่อเนื่อง โดยผลการประเมินพบว่าไม่มีผลิตภัณฑ์ของบริษัทฯ อยู่ในกลุ่มความเสี่ยงที่มีสารอันตราย นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังสื่อสารแผนการประเมินความเสี่ยงแก่พนักงานที่เกี่ยวข้องผ่านช่องทาง อาทิ อีเมล การประชุม การอบรม และกิจกรรมเผยแพร่ความรู้

นอกจากนี้ บริษัทฯ ได้วางแผนที่จะศึกษาและพัฒนาเกณฑ์การประเมินความเสี่ยงสารอันตรายในผลิตภัณฑ์ที่ส่งผลต่อสิ่งแวดล้อมโดยอ้างอิงตามหลักเกณฑ์และข้อกำหนดของของสหพันธ์สากลสมาคมผู้ประกอบการด้านอุตสาหกรรมเคมี (International Council of Chemicals Association: ICCA)