ความท้าทายและความมุ่งมั่น

บริษัทฯ ได้เล็งเห็นถึงกระแสการเปลี่ยนแปลงของโลกในปัจจุบัน ซึ่งก่อให้เกิดความเสี่ยงและโอกาสใหม่ ๆ ที่อาจส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจของบริษัทฯ ในอนาคต เช่น การพัฒนาเทคโนโลยีที่มีผลกระทบต่อการดำรงชีวิตและพฤติกรรมมนุษย์ การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ และการเกิดโรคระบาดใหม่ เป็นต้น ดังนั้น บริษัทฯ จึงได้ให้ความสำคัญกับการบริหารความเสี่ยงอย่างเป็นระบบภายในองค์กร พร้อมทั้งพิจารณาสภาพแวดล้อมทางธุรกิจ ทั้งจากปัจจัยภายในและภายนอกองค์กรที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจของบริษัทฯ อย่างต่อเนื่อง เพื่อระบุแนวโน้มความเสี่ยงและปัญหาที่อาจเกิดขึ้นและส่งผลกระทบต่อองค์กร ซึ่งทำให้บริษัทฯ สามารถรับมือกับความท้าทายต่าง ๆ ได้อย่างทันท่วงที และขับเคลื่อนองค์กรให้สามารถบรรลุเป้าหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด

ผู้มีส่วนได้เสียหลัก

พนักงาน
ผู้ถือหุ้น นักลงทุน และนักวิเคราะห์

เป้าหมายการดำเนินงาน

การบริหารความเสี่ยงขององค์กร
มีประสิทธิภาพ และประสิทธิผล สอดคล้องกับ
เป้าหมายทางธุรกิจและกลยุทธ์องค์กรระยะยาว
ติดตามและบริหารความเสี่ยง
เพื่อลดผลกระทบจากความเสี่ยงต่าง ๆ ให้อยู่ในระดับที่ยอมรับได้และเหมาะสม

แนวทางการบริหารจัดการ

แนวทางการดำเนินงานบริหารความเสี่ยงและควบคุมภายใน

บริษัทฯ มีแนวทางการดำเนินงานการบริหารจัดการความเสี่ยงและการควบคุมภายในอย่างเหมาะสมและสอดคล้องกับมาตรฐานในระดับสากล ได้แก่ COSO (The Committee of Sponsoring Organization of the Treadway Commission) ปี 2017 และ มาตรฐาน ISO 31000เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ของการควบคุมภายในด้านการปฏิบัติงานอย่างมีประสิทธิภาพ ความถูกต้องครบถ้วนของรายงาน และการปฏิบัติตามกฎหมาย กฎเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องในการดำเนินธุรกิจ อันจะช่วยสนับสนุนให้การทำงานของบริษัทฯ มีความถูกต้อง โปร่งใส บรรลุวัตถุประสงค์ของบริษัทฯ และตอบสนองต่อความคาดหวังของผู้มีส่วนได้เสียที่มีความคาดหวังให้องค์กรดำเนินธุรกิจอย่างโปร่งใส มีจริยธรรม และความรับผิดชอบต่อสังคม บริษัทฯ จึงให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับการกำกับดูแลกิจการ การบริหารจัดการความเสี่ยง และการดำเนินธุรกิจที่สอดคล้องตามกฎหมาย (Governance, Risk Management and Compliance : GRC) เพื่อส่งเสริมให้ธุรกิจดำเนินงานได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน และเป็นไปตามความคาดหวังของผู้มีส่วนได้เสียที่สำคัญ

โดยบริษัทฯกำหนดให้มีหน่วยงานที่รับผิดชอบกำกับดูแลและติดตามระบบการควบคุมภายในให้มีประสิทธิภาพอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้การดำเนินงานมีประสิทธิภาพ รายงานที่จัดทำขึ้นมีความถูกต้อง เชื่อถือได้ และการดำเนินงานเป็นไปตามกฎหมายและกฎเกณฑ์ที่เกี่ยวข้อง สามารถป้องกันทรัพย์สินของบริษัทฯ จากการนำไปใช้โดยมิชอบของบุคคลผู้มีอำนาจและผู้ที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการทำธุรกรรมกับบุคคลที่อาจมีความขัดแย้งทางผลประโยชน์และบุคคลที่เกี่ยวโยงกันอย่างเพียงพอ รวมทั้งหน่วยงานตรวจสอบภายในได้สอบทานระบบการควบคุมภายในของบริษัทฯ ตามแผนงานตรวจสอบตามฐานความเสี่ยง

นอกจากนี้บริษัทฯ ได้ให้ความสำคัญผ่านการประเมินความเสี่ยงเป็นประจำทุกไตรมาส เพื่อให้การบริหารความเสี่ยงและการควบคุมภายในมีความสอดคล้องกับหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดีของ ก.ล.ต. และแนวปฏิบัติที่ดีของกลุ่มบริษัทฯ มากยิ่งขึ้น รวมทั้งการเพิ่มประสิทธิภาพการควบคุมภายในตามมาตรฐานสากล เพื่อส่งเสริมให้บริษัทฯ บรรลุวัตถุประสงค์ของการควบคุมภายในทั้ง 3 ด้าน ได้แก่ ด้านการปฏิบัติงาน (Operation) ด้านการรายงาน (Reporting) และด้านการปฏิบัติตามกฎหมาย กฎเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินธุรกิจของบริษัทฯ (Compliance) คณะกรรมการบริหารความเสี่ยง ได้สนับสนุนและข้อเสนอแนะโครงการการพัฒนากระบวนการประเมินความเสี่ยงและการควบคุมภายในด้วยตนเอง (Risk and Control Self-Assessment: RCSA) เพื่อเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการควบคุมภายใน และการสร้างความเข้าใจของผู้ปฏิบัติงานในการดำเนินกิจกรรม โดยสามารถประเมินจุดสำคัญของกระบวนการควบคุมภายในและประเมินความเสี่ยงกระบวนการทำงานของตนเองได้ ทั้งนี้ เพื่อเพิ่มศักยภาพในการกำกับดูแลการบริการความเสี่ยงขององค์กร บริษัท ฯ มุ่งเสริมสร้างความรู้ ความเข้าใจ ด้านการบริหารความเสี่ยงทั่วทั้งองค์กร ผ่านการจัดอบรมจากผู้เชี่ยวชาญ ให้กับคณะกรรมการบริษัท ฯ ผู้บริหาร จนถึงพนักงานทุกระดับ โดยกำหนดให้การบริหารความเสี่ยงเป็นหนึ่งในหัวข้อการบรรยายลักษณะงาน (Job Description) ของพนักงานทุกคน ตลอดจนดำเนินโครงการส่งเสริมวัฒนธรรมความเสี่ยงให้แก่พนักงานทุกระดับภายในองค์กร โดยมีโครงการที่โดดเด่น ดังนี้

สามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับโครงการการบริหารจัดการความเสี่ยงและวิกฤตการณ์ ในเล่มรายงานความยั่งยืนแบบบูรณาการประจำปี 2566 ของบริษัทฯ ได้ที่ รายงานความยั่งยืนแบบบูรณาการประจำปี 2566

  • โครงการการประชุมเชิงปฏิบัติการการบริหารความเสี่ยง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและความเข้าใจในการบริหารความเสี่ยงทั้งในระดับปฏิบัติการและระดับองค์กรสำหรับผู้บริหาร
  • โครงการการอบรมให้ความรู้เรื่องความเสี่ยง เพื่อเพิ่มความตระหนักรู้และเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการความเสี่ยง ตลอดจนการควบคุมภายใน รวมถึงเพื่อแลกเปลี่ยนประเด็นความเสี่ยงที่เกิดขึ้นจากแต่ละหน่วยงานภายในบริษัทฯ
  • โครงการการประเมินความเสี่ยงและการควบคุมภายในด้วยตนเอง เพื่อให้บริษัทฯ สามารถบริหารจัดการความเสี่ยงและการควบคุมภายในได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตลอดจนสร้างความมั่นใจและความน่าเชื่อถือของรายงานทางการเงิน การดูแลป้องกันทรัพย์สิน และการปฏิบัติตามกฎหมายและระเบียบข้อบังคับที่เกี่ยวข้องของบริษัทฯ
  • การซ้อมแผนความต่อเนื่องทางธุรกิจ เพื่อเตรียมความพร้อมเพื่อรับอุบัติการณ์และลดผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจ รวมถึงเพื่อให้ผู้ปฏิบัติงานทุกระดับในสายงานการวางแผนความต่อเนื่องทางธุรกิจ (BC Team) เข้าใจถึงบทบาท และหน้าที่ความรับผิดชอบของตนเองตามแนวทางปฏิบัติที่กำหนดไว้ในแผนความต่อเนื่องธุรกิจอย่างมีประสิทธิภาพ

รายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับโครงการอบรมให้ความรู้เรื่องการดำเนินธุรกิจที่สอดคล้องตามกฎหมาย (Governance, Risk Management and Compliance : GRC) และการประเมินความเสี่ยงและการควบคุมภายในด้วยตนเอง (Risk and Control Self-Assessment: RCSA) ให้แก่ผู้บริหารในปี 2022 (GRC and RCSA Refreshment Workshop for Top Management) ได้ที่ : GGC GRC and RCSA Refreshment Workshop for Top Management

บริษัทฯ บริหารความเสี่ยงและปรับปรุงการควบคุมภายในควบคู่ไปกับการจัดการกลยุทธ์ เพื่อให้การดำเนินธุรกิจของบริษัทฯ เป็นไปตามวัตถุประสงค์เชิงกลยุทธ์และเป้าหมายหลักขององค์กรภายใต้ความเสี่ยงที่ยอมรับได้ ซึ่งครอบคลุมถึงการบริหารความเสี่ยงด้านคุณภาพ ความมั่นคง ความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสิ่งแวดล้อม (Environment) สิทธิมนุษยชน (Human Rights) สิทธิแรงงาน (Labor Rights) การปฏิบัติตามกฎหมาย กฎระเบียบ คู่มือการปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้อง และการต่อต้านทุจริต คอร์รัปชัน (Anti-Corruption) ตอบสนองต่อผู้มีส่วนได้เสียอย่างเป็นธรรม โดยวิเคราะห์สภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่ครอบคลุมทั้งปัจจัยภายในและปัจจัยภายนอกองค์กรที่อาจส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจปัจจุบันของบริษัทฯ รวมทั้งกำหนดให้มีการประเมินความเสี่ยงควบคู่ไปกับการพิจารณาจัดทำแผนกลยุทธ์ การลงทุน และการวางแผนธุรกิจ เพื่อให้การดำเนินธุรกิจสอดคล้องตามเป้าหมายขององค์กรรายปี ทั้งแผนกลยุทธ์ระยะสั้น (Short Term Goal) และแผนกลยุทธ์ระยะยาว (Long Term Goal) ของบริษัทฯ ตลอดจนการนำมาตรการป้องกันผลกระทบที่กำหนดไว้ มาใช้ควบคุมระดับความเสี่ยงให้อยู่ในระดับที่บริษัทฯ ยอมรับได้ รวมทั้งจัดให้มีการวิเคราะห์ Root Cause Analysis ในกรณีที่ไม่เป็นไปตามแผนงาน

บริษัทฯ พิจารณาความเสี่ยงถึงครอบคลุมทั้งความเสี่ยงระดับองค์กร (Corporate Risk) ความเสี่ยงระดับปฏิบัติการ (Operational Risk) และความเสี่ยงที่เกิดขึ้นใหม่ (Emerging Risk) ซึ่งสอดคล้องกับระบบมาตรฐาน COSO (The Committee of Sponsoring Organisations of the Treadway Commission)

ความเสี่ยงที่เกิดขึ้นใหม่

บริษัทฯ ได้ให้ความสำคัญต่อการวิเคราะห์ประเด็นความเสี่ยงใหม่ที่อาจเกิดขึ้นซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจในอีกสามถึงห้าปีข้างหน้า ตลอดจนจัดทำมาตรการป้องกันผลกระทบต่าง ๆ เพื่อใช้ในการควบคุมระดับความเสี่ยงให้อยู่ในระดับที่ยอมรับได้

ความเสี่ยงด้านการเปลี่ยนแปลงแนวโน้มพฤติกรรมของผู้บริโภคในอนาคต (Risk Regarding Customer Trends)

ประเภทความเสี่ยง (Category of Risk) ความเสี่ยงด้านสังคมและเทคโนโลยี (Societal and Technological Risk)
แหล่งที่มา (Sources of Risks) ปัจจัยทางธรรมชาติ (Natural Factor) และ เศรษฐศาสตร์มหภาค (Macroeconomic Factor)
การวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์ (Scenario Analysis)

ปัจจุบันการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภคที่หันมาใส่ใจด้านสิ่งแวดล้อมมากขึ้น มีความตระหนักในเรื่องการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน (Energy Transition) และความก้าวหน้าของเทคโนโลยีรถยนต์ไฟฟ้าและแบตเตอรี่ ซึ่งเป็นไปตามความร่วมมือในระดับสากล ดังเช่น การประชุมรัฐภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 26 (Conference of Parties: COP26) ปี 2564 และสมัยที่ 27 (COP27) ที่ทำให้ทั่วโลกให้ความสำคัญกับการลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และมีการปรับเปลี่ยนนโยบายและกฎหมายให้เอื้อต่อการเปลี่ยนแปลงไปสู่ธุรกิจคาร์บอนต่ำ เช่น มาตรการเพิ่มภาษีคาร์บอน เป็นต้น ซึ่งอาจจะส่งผลให้ต้นทุนการผลิตสินค้าที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพิ่มสูงขึ้น และส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจในระยะยาว (Low Carbon Economy) ซึ่งประกอบไปด้วย การใช้พลังงานหมุนเวียน (RE) สำหรับพลังงานปฐมภูมิ (Primary Energy) ทั้งพลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม พลังงานชีวภาพ และเซลล์เชื้อเพลิง (Fuel Cell) รวมถึงเทคโนโลยีเพื่อประสิทธิภาพการใช้พลังงานที่สูงขึ้น

นอกจากนี้ยังมีการพัฒนาเศรษฐกิจแบบองค์รวม ที่จะพัฒนาเศรษฐกิจ 3 มิติไปพร้อมกัน ได้แก่ เศรษฐกิจชีวภาพ (Bioeconomy) เน้นการใช้ทรัพยากรชีวภาพเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม เชื่อมโยงกับเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) คำนึงถึงการนำวัสดุต่าง ๆ กลับมาใช้ประโยชน์ให้มากที่สุด และทั้ง 2 เศรษฐกิจนี้จะอยู่ภายใต้เศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) ซึ่งเป็นการพัฒนาเศรษฐกิจที่ไม่ได้มุ่งเน้นเพียงการพัฒนาเศรษฐกิจเท่านั้น แต่ต้องพัฒนาควบคู่กับการพัฒนาสังคมและการรักษาสิ่งแวดล้อมได้อย่างสมดุลให้เกิดความมั่นคงและยั่งยืนไปพร้อมกัน

ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น (Possible Effects)

ธุรกิจเชื้อเพลิงชีวภาพ (Biofuel): รายได้และกำไรของธุรกิจได้รับผลกระทบเชิงลบเนื่องจากความต้องการใช้เชื้อเพลิงของเครื่องยนต์สันดาปภายใน (Internal Combustion Engine: ICE) ทั้งน้ำมันดีเซลและน้ำมันเบนซิน มีแนวโน้มลดลง จากการแทนที่ของ EV ในอนาคต และความสนใจในสิ่งแวดล้อมที่ชัดเจนมากขึ้นของผู้บริโภค แต่ทั้งนี้ก็มีผลกระทบเชิงบวกและเป็นโอกาสทางธุรกิจในการต่อยอดสู่ผลิตภัณฑ์ Methyl Ester Derivatives และ Ethanol Derivatives ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์โอลีโอเคมี และเคมีชีวภาพที่มีแนวโน้มเติบโตดี

ธุรกิจโอลีโอเคมี (Oleochemicals): ได้รับผลกระทบเชิงบวกจากความต้องการผลิตภัณฑ์ Bio-based และ Sustainable Ingredients ที่มีแนวโน้มเติบโต นอกจากนี้ยังสามารถต่อยอดสู่ผลิตภัณฑ์ High Value Product (HVP) ได้อีกด้วย รวมถึงนโยบาย BCG Model ที่ส่งเสริมให้เพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าเกษตร และนำมาผลิตเป็นผลิตภัณฑ์มูลค่าสูง ได้รับการส่งเสริมและสนับสนุนการลงทุนอุตสาหกรรมเคมีชีวภาพจากภาครัฐ

มาตรการรองรับปัจจัยเสี่ยง และโอกาส (Mitigation and Opportunities)

  • วางแผนและประเมิน แผนงานที่เกี่ยวข้องกับ Transition Risks ที่รวมไปถึงความเสี่ยงและโอกาส ที่อาจจะเกิดขึ้น เพื่อวางแผนในการดำเนินงานสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ
  • ติดตามแผนการส่งเสริมแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือกอย่างใกล้ชิด ว่าจะมีการปรับแผนเพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติหรือไม่และอย่างไร จากแผนเดิมฉบับปรับปรุงใหม่ ปี 2561 – 2580 (AEDP 2018)
  • ร่วมมือกับพันธมิตรทางธุรกิจ ในการศึกษาและพัฒนาตลาดภายในประเทศ เพื่อรองรับการลงทุนในอนาคต รวมถึงหาเทคโนโลยีที่เหมาะสมในการลงทุนโครงการ สำหรับผลิตภัณฑ์กลุ่มเชื้อเพลิงชีวภาพขั้นสูง (Advance Biofuel)
  • ศึกษาข้อมูลทางด้านการตลาดร่วมกับทางกลุ่ม GC เพื่อหาโอกาสทางการตลาด และศึกษาหาเทคโนโลยีที่เหมาะสมกับโครงการ ในการต่อยอดผลิตภัณฑ์เอทานอลให้มีมูลค่าสูงขึ้น
  • ศึกษาร่วมกับพันธมิตรทางธุรกิจ และเจ้าของเทคโนโลยีการผลิต (Technology Licensor) เพื่อขยายธุรกิจสู่ผลิตภัณฑ์เคมีชีวภาพ (Biochemicals) ที่มีศักยภาพ
  • ศึกษาและต่อยอดธุรกิจจากผลิตภัณฑ์โอลีโอเคมี ไปสู่ผลิตภัณฑ์ปลายน้ำผ่านกลุ่มสินค้า Home & Personal Care (HPC) ซึ่งมีมูลค่าสูงขึ้น

ความเสี่ยงด้านวิกฤตหนี้ (Risk Regarding Debt Crises)

ประเภทความเสี่ยง (Category of Risk) เศรษฐกิจ (Economic)
แหล่งที่มา (Sources of Risks) ปัจจัยจากเศรษฐศาสตร์มหภาค (Macroeconomics Factor)
การวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์ (Scenario Analysis) จากการคาดการณ์ของ The World Economic Forum (WEF) ว่าหลายประเทศทั่วโลกอาจต้องเผชิญความเสี่ยงเนื่องจากการเพิ่มขึ้นของปริมาณหนี้สิน ซึ่งเป็นผลจากวิกฤตเศรษฐกิจในช่วงการแพร่ระบาด COVID-19 ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการจัดหาเงินทุน ความสามารถในการชำระหนี้ รวมถึงการเติบโตทางเศรษฐกิจของภาครัฐและภาคเอกชนภายในประเทศ ทั้งนี้ บริษัทฯ ได้ดำเนินการวิเคราะห์ความอ่อนไหว (Sensitivity Analysis) และทดสอบภาวะวิกฤติ (Stress Test) จากปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่มีอิทธิพลต่อกำไรสุทธิขององค์กร เพื่อนำมากำหนดมาตรการรองรับความสูญเสียที่อาจเกิดขึ้น ผ่านการทำแบบจำลองทางการเงิน เพื่อพิจารณาผลกระทบต่อกำไรสุทธิจากการเปลี่ยนแปลงของปัจจัยสำคัญ อาทิ อัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ ราคาพลังงาน ราคาวัตถุดิบและผลิตภัณฑ์หลัก

ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น (Possible Effects)

ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น (Possible Effects) ความเสี่ยงจากการชำระหนี้ของคู่ค้าทางธุรกิจของบริษัทฯ และโครงการร่วมทุนกับพันธมิตรทางธุรกิจ จนกระทบต่อผลการดำเนินธุรกิจปัจจุบันและแผนธุรกิจบริษัทฯ ในอนาคตอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งเป็นผลจากวิกฤตเศรษฐกิจในช่วงการแพร่ระบาด COVID-19 และความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ทั่วโลกอาจส่งผลให้เศรษฐกิจภายในประเทศชะลอตัว คู่ค้าประสบปัญหาการเงินขัดข้อง หรือลูกค้าไม่สามารถซื้อสินค้าเนื่องจากความต้องสินค้าชะลอตัว ทำให้เกิดห่วงโซ่อุปทานที่หยุดชะงัก ส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิต รวมถึงลดความต้องการผลิตภัณฑ์ทั้งโอลีโอเคมีและเคมีภัณฑ์ตามลำดับ ซึ่งนำไปสู่การลดลงของผลประกอบการของบริษัทฯ ซึ่งอาจส่งผลต่อความสามารถในการชำระหนี้และการส่งมอบสินค้าและบริการ ทั้งนี้ ราคาต้นทุนที่สูงขึ้นตามอุปสงค์และอุปทานของผลิตภัณฑ์ และต้นทุนการดำเนินงาน สามารถนำไปสู่การสูญเสียความสามารถในการสร้างรายได้ จนไม่สามารถแข่งขันในตลาดได้ รวมถึงส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้มีส่วนได้เสีย

มาตรการรองรับปัจจัยเสี่ยง และโอกาส (Mitigation and Opportunities)

  • กำหนดกลยุทธ์ในการสร้างผลิตภัณฑ์อย่างมีความรับผิดชอบ ผ่านการนำนวัตกรรมมาประยุกต์ในการพัฒนาและการตลาด สำหรับผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าสูง (High Value Products) ของผลิตภัณฑ์เชื้อเพลิงชีวภาพขั้นสูง (Advanced Biofuel) ผลิตภัณฑ์เคมีชีวภาพ (Biochemicals) และผลิตภัณฑ์กลุ่ม Food & Nutraceuticals ที่สามารถเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันของบริษัทฯ ในอุตสาหกรรมโอลีโอเคมี และเคมีภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อม พร้อมทั้งวางแผนขยายการขายไปยังตลาดส่งออกอื่น ๆ เพื่อลดผลกระทบจากความผันผวนทางเศรษฐกิจ
  • ดำเนินการประเมินความเสี่ยงของคู่ค้ารายสำคัญ โดยใช้แบบประเมิน ESG Assessment พร้อมทั้ง ประเมินสถานะทางการเงินในระหว่างขั้นตอนการขึ้นทะเบียนผู้ขายรายใหม่ (Vendor List) โดยมีการตรวจประเมินและติดตามความเสี่ยงด้านสภาพคล่องเป็นประจำ