GGC จัดกิจกรรม Analyst Meeting & Opportunity Day ประกาศผลการดำเนินงานประจำไตรมาส 2 ปี 2565
02 กันยายน 2565
นายไพโรจน์ สมุทรธนานนท์ กรรมการผู้จัดการ พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร นางสาววัลภา โสภิสเขื่อนขันธ์ ผู้จัดการฝ่ายหน่วยงานการเงินและบัญชี นายเอกพงศ์ โกวิทกูลไกร ผู้จัดการฝ่ายหน่วยงานวางแผนและจัดหาวัตถุดิบ และนายสุเชษฐ์ ดีมั่งมี ผู้จัดการฝ่ายหน่วยงานการตลาดและการขายผลิตภัณฑ์ ร่วมแถลงผลการดำเนินงานประจำไตรมาส 2 ปี 2565 แก่นักวิเคราะห์หลักทรัพย์ นักลงทุน และสื่อมวลชนผ่านกิจกรรม Analyst Meeting เมื่อวันที่16 สิงหาคม 2565 และกิจกรรมบริษัทจดทะเบียนพบผู้ลงทุน Opportunity Day เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2565
KEY HIGHLIGHTS
Finance Performance
- ผลประกอบการประจำไตรมาส 2/2565 บริษัทฯ มีรายได้จากการขายรวมทั้งหมด 7,503 ล้านบาท ปรับเพิ่มขึ้น 56% และมี Adjusted EBITDA จำนวน 796 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 228% จากไตรมาส 2/2564 ทั้งนี้ บริษัทฯ รับรู้ผลกระทบจาก Stock Loss & NRV จำนวน 133 ล้านบาท ส่งผลให้ในไตรมาส 2/2565 บริษัทฯ มีกำไรสุทธิจำนวน 422 ล้านบาท (0.41 บาท/หุ้น) ปรับเพิ่มขึ้นจากไตรมาส 2/2564 จำนวน 342 ล้านบาท หรือคิดเป็นเพิ่มขึ้น 428%
โครงการด้านความยั่งยืนของบริษัทฯ
โครงการการผลิตปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์มอย่างยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (SCPOPP)
- บริษัทฯ ได้ดำเนินโครงการการผลิตปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์มอย่างยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม Sustainable and Climate - Friendly Palm oil production and procurement (SCPOPP) ร่วมกับองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) โดยมีเป้าหมายการส่งเสริมเกษตรกรรายย่อยให้ได้รับการรับรอง Roundtable on Sustainable Palm Oil (RSPO) สามารถวัดผลได้อย่างเป็นรูปธรรม สู่การเป็นผู้นำด้านความยั่งยืนในระดับสากล โดยการดำเนินโครงการฯ ในระยะที่ 1 เสร็จสิ้นเรียบร้อยแล้วเมื่อเดือนมิถุนายน 2565 ในพื้นที่ 4 จังหวัดนำร่อง ได้แก่ จังหวัดกระบี่ ตรัง พังงาและชุมพร มีโรงสกัดปาล์มน้ำมันจำนวน 7 ราย และ เครือข่ายเกษตรกรจำนวน 1,033 ราย เข้าร่วมโครงการฯ สำหรับโครงการนี้ มีเกษตรกร 49 คนเป็นวิทยากรในหลักสูตร TOPSA เพื่อเตรียมขยายผลองค์ความรู้ในการปลูกปาล์มน้ำมันอย่างยั่งยืนแก่เกษตรกรรายย่อยผู้ปลูกปาล์มน้ำมัน 1,033 คน
- เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา บริษัทฯ ได้เริ่มดำเนินโครงการฯ ในระยะที่ 2 และได้ร่วมลงนามสัญญาการดำเนินโครงการฯ ร่วมกับ GIZ เรียบร้อยแล้ว
โครงการ Care the Wild “ปลูกป้อง Plant & Protect”
- บริษัทฯ ได้เข้าร่วมโครงการ Care the Wild ร่วมกับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และภาคีสนับสนุนป่าชุมชนลดโลกร้อน ประกอบด้วย กรมป่าไม้ องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) และเครือข่ายภาคประชาชนในพื้นที่ตำบลสหกรณ์นิคม จังหวัดกาญจนบุรี โดยมีเป้าประสงค์เพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์ ฟื้นฟู ดูแล และพัฒนาป่าชุมชน บนพื้นที่ 20 ไร่ ตลอดระยะเวลา 10 ปีร่วมกัน โดยภาคีฯ จะปลูกต้นไม้หลากหลายพันธุ์ผสมกันเป็นจำนวนกว่า 4,000 ต้น ซึ่งจะช่วยดูดซับก๊าซเรือนกระจก คิดเป็น 36 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปีโดยประมาณ รวมถึงผลประโยชน์เชิงเศรษฐกิจจากไม้ผลที่ชุมชนโดยรอบป่าชุมชนจะได้รับด้วย
Market Situation
เมทิลเอสเทอร์
- ราคา CPO ปรับตัวสูงขึ้น 61% จากปีก่อน และเพิ่มขึ้น 4% จากไตรมาสก่อนหน้าจากการส่งออกที่มากขึ้น ตามความต้องการของตลาดโลกปรับตัวเพิ่มขึ้นจากการคลี่คลายของสถานการณ์ COVID-19 ในสหรัฐอเมริกาและประเทศในแถบยุโรป ในขณะที่อุปทานปรับตัวลดลง จากการที่ประเทศอินโดนีเซียมีการประกาศนโยบายจำกัดและห้ามการส่งออกน้ำมันปาล์ม (Domestic Market Obligation : DMO) ทำให้ราคาน้ำมันปาล์มดิบในตลาดต่างประเทศปรับตัวพุ่งสูงขึ้น ส่งผลให้โรงสกัดในประเทศไทยมีการส่งออกเป็นจำนวนมาก มีผลทำให้ปริมาณสต็อกปรับลดลงมาอยู่ที่ประมาณ 154,000 ตัน จากที่ระดับ 292,000 ตัน จากช่วงครึ่งแรกของปีก่อน
- จากประกาศมติจากคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) สำหรับการปรับลดสัดส่วนการผสมน้ำมันไบโอดีเซล จาก B7,LB10 และ B20 ลดมาอยู่ที่ B5 เกรดเดียว ส่งผลทำให้สถานการณ์ความต้องการใช้เมทิลเอสเทอร์โดยรวมของประเทศลดลง
แฟตตี้แอลกอฮอล์
- ราคาน้ำมันเมล็ดในปาล์มดิบ (CPKO-MPOB) ปรับตัวเพิ่มขึ้น 47% จากปีก่อน สาเหตุเดียวกันกับที่ราคา CPO ปรับตัวเพิ่มขึ้นตามที่กล่าวในส่วนของเมทิลเอสเทอร์ข้างต้น ในขณะที่ราคา CPKO มีการปรับตัวลดลง 11% จากไตรมาสก่อนหน้า เนื่องจากมาตรการ Lockdown ของประเทศจีนที่ประกาศใช้ตั้งแต่เดือนเมษายนถึงเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ทำให้ความต้องการใช้ CPKO ปรับลดลงในไตรมาสนี้ ประกอบกับอุปทานปรับตัวเพิ่มขึ้นจากการส่งออกในประเทศผู้ผลิตที่เพิ่มขึ้น
- ด้านของความต้องการใช้แฟตตี้แอลกอฮอล์ในไตรมาสนี้มีการปรับตัวลดลง เนื่องจากความผันผวนของราคาวัตถุดิบที่ทำให้ผู้ผลิตชะลอการซื้อเพื่อดูแนวโน้มของราคาวัตถุดิบ
- อย่างไรก็ตาม ผลิตภัณฑ์แฟตตี้แอลกอฮอล์ ซึ่งเป็นส่วนประกอบในพวกผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดภายในครัวเรือนต่างๆ ยังคงมีความต้องการใช้อยู่จำนวนมากโดยเฉพาะช่วง COVID-19
กลีเซอรีน
- สำหรับกลีเซอรีน ราคามีการปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นเกินกว่า 100% จากปีก่อน เนื่องจากอุปทานมีจำกัดจากการผลิตไบโอดีเซลที่ปรับลดลง ในขณะที่ยังมีความต้องการใช้อย่างต่อเนื่อง เนื่องจากเป็นส่วนประกอบในผลิตภัณฑ์พวกสารให้ความชุ่มชื้น ผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์เพื่อสุขอนามัย รวมถึงเป็นส่วนประกอบของครีมและโลชั่น
Nakhonsawan Biocomplex
- โครงการนครสวรรค์ไบโอคอมเพล็กซ์ระยะที่ 1 ดำเนินการก่อสร้างโครงการได้เสร็จสมบูรณ์ 100% และได้เริ่มมีการหีบอ้อย ทดสอบระบบและเครื่องจักรบางส่วนแล้ว รวมถึงได้มีการวางแผนกลยุทธด้านการผลิตและการตลาดคาดว่าจะเริ่มดำเนินการเชิงพาณิชย์ได้ในช่วงไตรมาส 1 ของปี 2566 ซึ่งเป็นช่วงฤดูหีบอ้อยตามแผนที่วางไว้โดยในช่วง ครึ่งปีแรก สามารถผลิตเอทานอลจากน้ำอ้อย ได้ประมาณ 11.4 ล้านลิตร และนำขายให้กับคู่ค้า ลูกค้า 8.8 ล้านลิตร
- โครงการนครสวรรค์ไบโอคอมเพล็กซ์ระยะที่ 2 บริษัทฯ ได้ดำเนินการเตรียมพื้นที่ก่อสร้างทั้งในส่วนของโรงงาน GGC และ Natureworks เป็นที่เรียบร้อย คาดว่าจะแล้วเสร็จตามแผนงานและจะมีการเตรียมตอกเสาเข็มเร็วๆนี้