คำถามที่พบบ่อย
คำถามที่น่าสนใจสำหรับนักลงทุน
บริษัท พีทีที โกลบอลเคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GC เป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของบริษัทฯ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 72.29 และบริษัทฯ ยังได้รับมอบหมายให้เป็นแกนนำธุรกิจผลิตภัณฑ์เคมีเพื่อสิ่งแวดล้อม (Green Flagship Company) ของกลุ่ม GC โดยบริษัทฯ เป็นผู้บุกเบิกด้านการผลิตผลิตภัณฑ์โอลีโอเคมีในประเทศไทย
ธุรกิจปัจจุบันของบริษัทฯ คือ การผลิตละจำหน่ายผลิตภัณฑ์โอลีโอเคมีเพื่อสิ่งแวดล้อมขั้นพื้นฐาน ซึ่งประกอบด้วย
- ผลิตภัณฑ์เมทิลเอสเทอร์ หรือ B100 สามารถใช้ผสมกับน้ำมันดีเซลพื้นฐาน เพื่อผลิตเป็นน้ำมันไบโอดีเซลที่มีคุณภาพ เพื่อใช้ในเครื่องยนต์ดีเซล โดยเมทิลเอสเทอร์จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในน้ำมันดีเซล และที่สำคัญยังช่วยลดมลภาวะหรือผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดยเป็นการช่วยลดปัญหาฝุ่น PM2.5
- ผลิตภัณฑ์แฟตตี้แอลกอฮอล์จากธรรมชาติ ซึ่งเป็นสารตั้งต้นที่สำคัญในการต่อยอดไปสู่อุตสาหกรรมสุขอนามัยส่วนบุคคล (Personal Care) อีกทั้งสามารถใช้เป็นวัตถุดิบและส่วนประกอบที่นำไปใช้ในการผลิตสินค้าหลายประเภท รวมถึงสารลดแรงตึงผิว (Surfactant) สารเสริมสภาพพลาสติก (Plasticizers) สารทำละลาย สารแต่งกลิ่นน้ำหอม สารชำระล้าง สารช่วยทำให้ฟองคงรูป สารหล่อลื่น สาร Intermediate ช่วยลดการเกิดไฟฟ้าสถิตในอุตสาหกรรมสิ่งทอ ใช้เป็นส่วนผสมในเครื่องสำอาง สารประกอบในสี และสารเคลือบสิ่งทอ เครื่องหนัง และหมึกพิมพ์
- ผลิตภัณฑ์กลีเซอรีน เป็นผลิตภัณ์พลอยได้จากกระบวนการผลิตเมทิลเอสเทอร์และแฟตตี้แอลกอฮอล์ ซึ่งสามารถนำไปใช้ในอุตสาหกรรมยา อุตสาหกรรมอาหาร และอุตสาหกรรมสุขอนามัยส่วนบุคคล
บริษัทฯ ยังมีโครงการที่สำคัญ ซึ่งอยู่ระหว่างการก่อสร้างโครงการ และการลงทุน คือ
- โครงการโรงงานผลิตกลีเซอรีนบริสุทธิ์แห่งที่ 2 ซึ่งมีวัตถุประสงค์ เพื่อขยายส่วนแบ่งทางการตลาด และรองรับกลีเซอรีน ดิบที่ผลิตได้จากโรงงานผลิตเมทิลเอสเทอร์แห่งที่ 2 โดยโครงการดังกล่าวคาดว่าจะสามารถเริ่มดำเนินการเชิงพาณิชย์ได้ในไตรมาส 4 ปี 2563
- โครงการนครสวรรค์ไบโอคอมเพล็กซ์ (NBC) เป็นโครงการเพื่อต่อยอดสู่อุตสาหกรรมเคมีชีวภาพ และผลิตภัณฑ์พลาสติกชีวภาพ โดยแบ่งโครงการเป็น 2 ระยะ สำหรับระยะที่ 1 แผนการลงทุนประกอบด้วย โรงงานผลิตน้ำอ้อยและน้ำเชื่อมจากอ้อย โรงงานเอทานอล โรงงานไฟฟ้าชีวมวลและผลิตไอน้ำความดันสูง และโครงสร้างสาธารณูปโภคเพื่อรองรับโครงการดังกล่าว ซึ่งคาดว่าจะสามารถเริ่มการดำเนินการผลิตเชิงพาณิชย์ได้ในไตรมาส 4 ปี 2564 สำหรับระยะที่ 2 อยู่ระหว่างการศึกษาเทคโนโลยีและผู้ร่วมทุนที่เหมาะสม
- เมทิลเอสเทอร์จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในน้ำมันดีเซล ทั้งในด้านคุณสมบัติการหล่อลื่น เพิ่มประสิทธิภาพการเผาไหม้ของเครื่องยนต์ และช่วยยืดอายุการใช้งานของเครื่องยนต์
- การใช้ไบโอดีเซลสามารถช่วยลดมลภาวะหรือผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดยเป็นการช่วยลดปัญหาฝุ่น PM2.5
- ลูกค้าหลักของผลิตภัณฑ์เมทิลเอสเทอร์ หรือ B100 ได้แก่ บริษัทในกลุ่ม ปตท. และบริษัทน้ำมันชั้นนำในประเทศไทย
- ลูกค้าหลักของผลิตภัณฑ์แฟตตี้แอลกอฮอล์ ได้แก่ TEX ซึ่งเป็นกิจการร่วมค้าของบริษัทฯ และบริษัทชั้นนำด้านผลิตภัณฑ์ Home Personal Care ทั้งในประเทศและต่างประเทศ
ปัจจุบันบริษัทฯ มีโรงงานที่มีกำลังการผลิตติดตั้ง ดังนี้
- โรงงานผลิตเมทิลเอสเทอร์แห่งที่ 1 มีกำลังการผลิตติดตั้งเท่ากับ 300,000 ตันต่อปี และโรงงานผลิตเมทิลเอสเทอร์แห่งที่ 2 มีกำลังการผลิตติดตั้งเท่ากับ 200,000 ตันต่อปี
- โรงงานผลิตแฟตตี้แอลกอฮอล์ มีกำลังการผลิตติดตั้งเท่ากับ 100,000 ตันต่อปี
- โรงงานกลีเซอรีน มีกำลังการผลิตติดตั้งเท่ากับ 31,000 ตันต่อปี
นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังอยู่ระหว่างการขยายกำลังการผลิต โดยกำลังก่อสร้างโรงงานผลิตกลีเซอรีนแห่งที่ 2 ซึ่งมีกำลังการผลิตติดตั้งเท่ากับ 20,000 ตันต่อปี ซึ่งมีแผนในการดำเนินการเชิงพาณิชย์ในปี 2563 และโครงการไบโอคอมเพล็กซ์ จะมีกำลังการผลิตเอทานอล 186 ล้านลิตรต่อปี หรือ 600,000 ลิตรต่อวัน คาดว่าจะเริ่มดำเนินการผลิตเชิงพาณิชย์ในปี 2564
การกำหนดราคาไบโอดีเซลในประเทศ เป็นไปตามมติคณะกรรมการการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ซึ่งจะใช้เป็นราคาอ้างอิงในการขายให้กับโรงกลั่นน้ำมัน และ/หรือผู้ค้าน้ำมันตามพรบ.การค้าน้ำมันเชื้อเพลิง
ราคาอ้างอิงดังกล่าว เป็นหลักเกณฑ์ในการกำหนดราคาไบโอดีเซลเพื่อสะท้อนราคาวัตถุดิบหรือต้นทุนการผลิตที่แท้จริง โดยคำนึงถึงวัตถุดิบหลักในการผลิตไบโอดีเซล 3 ชนิด คือ น้ำมันปาล์มดิบ น้ำมันปาล์มกึ่งบริสุทธิ์ และไขน้ำมันปาล์ม
(รายละเอียดสามารถติดตามได้จาก website: www.eppo.go.th/index.php/th/petroleum/biofuel/situation-biofuel)
โครงการนครสวรรค์ไบโอคอมเพล็กซ์ (Nakhonsawan Biocomplex) เป็นการศึกษาโครงการร่วมกับบริษัท เกษตรไทย อินเตอร์เนชั่นแนล ชูการ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) (KTIS) ซึ่งจำแนกแผนการลงทุนพัฒนาโครงการดังกล่าว ณ จังหวัดนครสวรรค์ ออกเป็น 2 ระยะ คือ
- แผนการลงทุนระยะที่ 1 ซึ่งประกอบด้วย
- โรงผลิตน้ำอ้อยและน้ำเชื่อมจากอ้อย มีกำลังการหีบอ้อยจำนวน 2.4 ล้านตันต่อปี
- โรงงานเอทานอล มีกำลังการผลิตติดตั้งประมาณ 186 ล้านลิตรต่อปี หรือ 600,000 ลิตรต่อวัน โดยใช้น้ำอ้อยและน้ำเชื่อมที่ผ่านกระบวนการจากโรงหีบเป็นวัตถุดิบ
- โรงงานไฟฟ้าชีวมวล มีกำลังการผลิต 85 เมกะวัตต์ และผลิตไอน้ำความดันสูง มีกำลังการผลิต 475 ตันต่อชั่วโมง
- โครงสร้างสาธารณูปโภคเพื่อรองรับโครงการนครสวรรค์ไบโอคอมเพล็กซ์ โดยโครงการในระยะที่ 1 เป็นการเตรียมความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานสำหรับการลงทุนต่อยอดผลิตเคมีภัณฑ์และพลาสติกชีวภาพในระยะที่ 2
- แผนการลงทุนระยะที่ 2 เป็นโครงการต่อยอดสู่อุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์พลาสติกชีวภาพ (Bioplastics) และเคมีชีวภาพ (Biochemicals) ซึ่งเป็นการนำชานอ้อยมาสร้างมูลค่าเพิ่ม โดยอยู่ระหว่างการหาเทคโนโลยีและผู้ร่วมลงทุนที่เหมาะสม
บริษัทฯ กำหนดนโยบายการจ่ายเงินปันผลให้แก่ผู้ถือหุ้น กำหนดให้จ่ายได้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 30 ของกำไรสุทธิหลังหักภาษีและทุนสำรองต่างๆ ทั้งหมดของบริษัทฯ โดยมีเงื่อนไขว่า การจ่ายปันผลดังกล่าวขึ้นอยู่กับแผนการลงทุนความจำเป็นและความเหมาะสมอื่นๆ ในอนาคตด้วย